มด สัตว์ไม่แปลก ที่หลายคนนิยมเลี้ยง
โลกใบจิ๋วในบ้านของคุณ
มด เป็นสัตว์ประเภทแมลงที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปทุกที่ทั่วโลก อาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง มีชนชั้นและการแบ่งงานที่เป็นระเบียบ มดเป็นสัตว์ที่สามารถกินอาหารได้หลากหลาย ทั้งน้ำหวาน ซากพืช ซากสัตว์ รวมถึงอาหารของมนุษย์ เรียกได้ว่ามันกินได้แทบจะทุกอย่าง แถมมันยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ง่าย กล่าวคือ มันเป็นสัตว์ที่น่าสนใจมากจนใครหลายคนอยากที่จะศึกษามัน ซึ่งการเลี้ยงมดกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในฐานะงานอดิเรกที่น่าสนใจและให้ความรู้ การศึกษาและสังเกตชีวิตของพวกมันจึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่ง
เลี้ยงมดแล้วได้อะไร?
การเลี้ยงมดเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศขนาดเล็ก พฤติกรรมทางสังคมของมด การทำงานร่วมกัน และการแบ่งหน้าที่ การที่ได้เฝ้ามองและสังเกตุการทำงานในแต่ละวันของมดทำให้คุณเพลิดเพลินไม่ต่างไปจากการเฝ้ามองดูปลาที่แหวกว่ายอยู่ในตู้เลยล่ะ นอกจากนี้ยังทำให้เราเข้าใจมดมากยิ่งขึ้น ว่าสิ่งใดที่มดชอบ และเมื่อว่ามดเจอปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นพวกมันจะมีวิธีร่วมกันแก้ปัญหาอย่างไร
อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงมด
- รังมด: มีหลากหลายรูปแบบ แต่ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มคนเลี้ยงมดมากที่สุดก็คือกล่องอะคริลิกใสที่สามารถมองเห็นภายในได้อย่างชัดเจน
- อาหาร: มดกินอาหารหลากหลายชนิด เช่น น้ำหวาน แมลงขนาดเล็ก เมล็ดพืช
- น้ำ: แม้แต่มดเองก็ต้องการน้ำ ดังนั้นอย่าลืมจัดเตรียมน้ำให้มดด้วย
- วัสดุตกแต่ง: เช่น ทราย ใบไม้ กิ่งไม้ เพื่อให้รังมดดูสมจริงมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้กับมดอีกด้วย
สายพันธุ์มดที่นิยมเลี้ยง
- มดดำทุ่ง เป็นสายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้ม พบได้ทั่วไปในประเทศไทย มดพันธุ์นี้ไม่มีเหล็กใน ไม่ต้องกลัวโดนกัด ชอบกินน้ำหวานและโปรตีนจากแมลงที่สำคัญเลี้ยงง่ายขยายพันธุ์เร็ว และทนทาน เหมาะกับมือใหม่หัดเลี้ยง
- มดคันไฟ พบได้ทั่วไปตามบ้าน ขยายพันธุ์เร็ว มีความอึดทนทาน ปรับตัวได้ดี สีทองเเดง-น้ำตาลที่หัวและลำตัว ช่วงท้องนั้นจะมีสีเข้มกว่าส่วนอื่น ชอบหาอาหารที่มีรสหวาน และโปรตีนสูง ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ตายเเล้ว เเมลง ไส้เดือน น้ำหวานในดอกไม้ แต่คนเลี้ยงต้องระวังหน่อย เพราะน้องมีเหล็กใน หากโดนกัดอาจแพ้ได้
- มดน้ำผึ้ง มดชนิดนี้เป็นมดมดต่างถิ่น หรือ alien species หาอาหารและทำรังบนพื้นดินและขอนไม้ผุ พบกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย มีสีเหลืองทองคล้ายสีน้ำผึ้ง เลี้ยงง่าย ขยายพันธุ์เร็ว มีความ Crazy วิ่งพล่านไม่ต่างจาก Black Crazy Ant โปรดปรานคือน้ำตาล ของหวานที่สุด
ขั้นตอนการเลี้ยงมด
- เตรียมรังมด: ทำความสะอาดรังมดให้เรียบร้อยก่อนนำมดเข้าไป
- จับนางพญามด: หานางพญามดมาเลี้ยง โดยอาจจับเองตามธรรมชาติ หรือซื้อจากผู้เลี้ยงที่มีความรู้
- ย้ายนางพญามดเข้ารัง: วางนางพญามดลงในรังที่เตรียมไว้ เมื่อนางพญาปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เตรียมไว้ได้แล้ว มดงานที่เหลือก็จะเริ่มจัดการงานที่เหลือเอง
- ให้อาหารและน้ำ: จัดเตรียมอาหารและน้ำให้มดอย่างสม่ำเสมอ
- สังเกตพฤติกรรม: สังเกตพฤติกรรมของมดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าพวกมันต้องการอะไรบ้าง
เคล็ดลับในการเลี้ยงมด
- รักษาความสะอาด: ทำความสะอาดรังมดเป็นประจำ เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อโรค ถึงแม้ว่ามดจะเป็นสัตว์ที่กินเศษอาหารหรือซากพืชซากสัตว์ก็ตาม แต่ตามธรรมชาติแล้ว มดเป็นสัตว์ที่รักความสะอาดมาก มันมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำความสะอาดรังของมันให้สะอาด มีความชื้นและอุณหภูมิที่พอเหมาะอยู่เสมอ ดังนั้นผู้เลี้ยงเองก็ต้องช่วยมดในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดโดยตรง: แสงแดดโดยตรงอาจทำให้รังมดร้อนเกินไป ในธรรมชาตินั้นรังมดมักอยู่ใต้ดินหรือบนต้นไม้ที่มีร่มเงา มดไม่ชอบสถานที่ที่ร้อนจนเกินไป ดังนั้นจึงไม่ควรวางรังมดในบริเวณที่มีแสงแดดร้อน ควรวางไว้ในบริเวณที่ร่ม สงบและเย็น
- อย่ารบกวนบ่อยเกินไป: การรบกวนมดบ่อยครั้งอาจทำให้พวกมันเครียด ควรสังเกตุด้วยการมองดูเพียงอย่างเดียว ไม่ควรขยับ เคาะหรือเขย่ารัง เพราะจะทำให้มดรู้สึกว่ารังของตัวเองกำลังทุกรุกรานหรือไม่ปลอดภัย ส่งผลให้มดเครียดและส่งผลด้านสุขภาพของมดทั้งรังตามมา
ข้อควรระวัง
- มดบางชนิดดุและอาจกัด: ควรระมัดระวังในการจับหรือสัมผัสทุกครั้ง เพราะมดบางชนิดมีนิสัยดุ และอาจโดนมดกัดได้
- ไม่ปล่อยมดออกจากรัง: การปล่อยมดออกจากรังรือเปิดกล่องอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศภายในรังของมดได้
การเลี้ยงมดเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจและให้ความรู้กับผู้เลี้ยง แต่ต้องใช้ความอดทนและความใส่ใจในการดูแล หากคุณสนใจที่จะเลี้ยงมด ลองหาข้อมูลเพิ่มเติมหรือเข้าร่วมกลุ่มคนที่เลี้ยงมดเพื่อขอคำแนะนำได้ค่ะ